โรงพยาบาลศรีนครินทร์ (ปัญญานันทภิกขุ)
โรงพยาบาลชุมชนที่สร้างจากความศรัทธาของคนในชุมชนและสืบสานปณิธานหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เจ้าอาวาส วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2454 (ตรงกับรัชกาลที่ 6) ตลอดชีวิตสมณเพศ หลวงพ่อปัญญาสอนให้เข้าถึงถึงธรรมโดยใช้ปัญญาพิจารณา และเทศนาต่อต้านมารร้ายที่หากินกับศาสนาโดยใช้พิธีกรรมต่างๆเพื่อดึงดูดคนเข้าวัดเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชาวพุทธส่วนใหญ่งมงาย หลงทาง จนคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของพุทธศาสนา ด้วยเหตุดังกล่าววัดชลประทานฯ จึงมีพระพุทธรูปเพียงเพื่อพอเป็นพิธี ไม่มีการจุดธูปเทียน ไม่ให้ยึดติดกับอามิสบูชาต่างๆ
ส่วนลานธรรมรูปวงกลมภายในวัด มีต้นแบบมาจากสวนโมกขพลาราม อ.ไชยา สุราษฏร์ธานีของท่านพุทธทาส ที่ให้การแสดงธรรมภายในวัดเป็นแบบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ เช่นเดียวกับสมัยพุทธกาล เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการสร้างศาลาอาคารต่างๆ และภายในวัดชลประทานจะมีอาคารเท่าที่จำเป็นแก่ศาสนกิจเท่านั้น
ขณะที่พระที่บวชในช่วงฤดูร้อนจะมีกฏของทางวัด โดยให้พ่อแม่และญาติโยมมาเยี่ยมได้เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น และในช่วงเวลาจำกัด ห้ามพูดคุยขณะฟังธรรมและฉันอาหาร
อนึ่ง วัดชลประทานรังสฤษฏ์ สร้างโดยกรมชลประทาน ตั้งอยู่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในปี 2530 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทานสมัยนั้น ได้นิมนต์ท่านปัญญานันทะจากวัดอุโมงค์ จ. เชียงใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ที่มีบรรยากาศร่มรื่นมีสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะสำหรับการศึกษาธรรมะในทุกเพศทุกวัย
ประวัติหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปคือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ถือกำเนิดที่ตำบลคูหาสวรรค์ อ.เมืองพัทลุง จ.พัทลุง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2454 เดิมมีนามว่า ปั่น เสน่ห์เจริญ หลังใช้ชีวิตฆราวาสจนมีอายุได้ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอุปนันทนาราม จ.ระนอง โดยมีพระระณังคมุนีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดนางลาด อ.เมือง จ.พัทลุง โดยมีพระจรูญกรณีย์เป็นอุปัชฌาย์เมื่อปี พ.ศ.2474
หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ได้เดินทางไปศึกษาหาหลักธรรมในบวรพุทธศาสนาหลายจังหวัดที่มีสำนักเรียนธรรมะ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา และกรุงเทพมหานคร จนหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุสามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นที่ 1 ของสังฆมณฑลภูเก็ต และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และเอกในปีถัดมาที่ จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาบาลีจนสามารถสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลวงพ่อต้องหยุดการศึกษาไว้เพียงเท่านั้น แล้วเดินทางกลับพัทลุงภูมิลำเนาเดิมและได้เริ่มแสดงธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ รวมทั้งเดินทางไปจำพรรษาที่วัดสีตวนารามและวัดปิ่นบังอร รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อเป็นพื้นฐานในการเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
ปี พ.ศ.2475 หลวงพ่อมีโอกาสร่วมเดินทางไปประเทศพม่า กับพระโลกนาถชาวอิตาลีสหายธรรม ร่วมเดินทางแสวงบุญไปประเทศอินเดียและทั่วโลกโดยผ่านทางประเทศพม่าด้วยเท้าเปล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเดินทางถึงประเทศพม่าก็ต้องเดินทางกลับ
ระหว่างปี พ.ศ.2475-2476 หลวงพ่อได้มีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศหลายประเทศ จนหลวงพ่อได้ชื่อว่า เป็นพระสงฆ์รูปแรกของไทยที่ได้เดินทางไปประกาศธรรมในภาคพื้นยุโรป
ปี พ.ศ.2477 หลวงพ่อได้เดินทางไปจำพรรษากับพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และร่วมเป็นสหายธรรมดำเนินการเผยแพร่หลักธรรมที่แท้จริงตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ในปี พ.ศ.2492 หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ได้รับอาราธนานิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ และได้เริ่มแสดงธรรมในทุกวันอาทิตย์และวันพระที่พุทธนิคม จ.เชียงใหม่ พร้อมกันนี้หลวงพ่อได้เขียนบทความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสือธรรมะขึ้นจำนวนหลายเล่ม นอกจากนี้ หลวงพ่อได้เดินทางไปประกาศธรรมแก่ชาวบ้าน ชาวเขาโดยใช้รถติดเครื่องขยายเสียง จนชื่อเสียงของหลวงพ่อดังกระฉ่อนไปทั่ว จ.เชียงใหม่ ในนาม “ภิกขุปัญญานันทะ”
ในยุคนี้เองที่หลวงพ่อได้ก่อตั้งมูลนิธิ “เมตตาศึกษา” ที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ และบำเพ็ญศีล กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมาย
ในปี พ.ศ.2502 ม.ล.ชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน ในสมัยนั้น ระหว่างที่ไปเยือนเชียงใหม่มีความประทับใจ ในลีลาการสอนธรรมะแนวใหม่ของหลวงพ่อ จึงเกิดความศรัทธาปสาทะในพลวงพ่อ และในขณะนั้นกรมชลประทานได้สร้างวัดใหม่ขึ้น ชื่อ “วัดชลประทานรังสฤษฎ์” ที่ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี จึงได้อาราธนาหลวงพ่อไปเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมโกศาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ได้ดำเนินการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยวิธีที่ท่านได้เริ่มปฏิวัติรูปแบบการเทศนาแบบดั้งเดิมที่นั่งเทศนาบนธรรมาสน์ถือใบลาน มาเป็นการยืนพูดปาฐกถาธรรมแบบพูดปากเปล่าต่อสาธารณชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเหตุผลร่วมสมัย ทันต่อเหตุการณ์ เป็นการดึงดูดประชาชนให้หันเข้าหาธรรมะได้เป็นเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงแรกๆ ได้รับการต่อต้านอยู่บ้าง แต่ต่อมาภายหลังการปาฐกถาธรรมแบบนี้กลับเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปจนถึงบัดนี้ เมื่อพุทธศาสนิกชนทราบข่าวว่า หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุจะไปปาฐกถาธรรมที่ใดก็จะติดตามไปฟังกันเป็นจำนวนมาก จนในที่สุดหลวงพ่อได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมในสถานที่ต่างๆ และเทศนาออกอากาศทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ต่างๆด้วย
นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับอาราธนาไปแสดงธรรมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น และยังได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมและกล่าวคำปราศรัยในการประชุมองค์กรศาสนาของโลกเป็นประจำอีกด้วย
โดยที่หลวงพ่อท่านเป็นพระมหาเณรผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ได้สร้างงานไว้มากมายทั้งด้านศาสนาสังคมสงเคราะห์ตลอดจนงานด้านวิชาการ ดังนั้นหลวงพ่อจึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ได้รับรางวัลเกรียรติคุณมากมาย และเป็นประธานในการดำเนินกิจกรรมทั้งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและสังคม เช่น สนับสนุนโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกโรงพยาบาล กรมชลประทาน 80 ปี (ปัญญานันทะ) และเป็นประธานในการดำเนินการจัดหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ แม้ว่าคำสอนของหลวงพ่อจะเป็นคำสอนที่ฟังง่ายต่อการเข้าใจ แต่ลึกซึ้งด้วยหลักธรรมและอุดมการณ์อันหนักแน่นในพระรัตนตรัย หลวงพ่อปัญญานันทภิภขุ เป็นหนึ่งในบรรดาภิกษุผู้มีชื่อเสียง และเปี่ยมด้วยคุณธรรมเมตตาธรรม ผู้นำคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมาะสมสำหรับชนทุกชั้นที่จะเข้าถึง หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่กล้าในการปฏิรูปพิธีกรรมทางศาสนา ของชาวไทยที่ประกอบพิธีกรรมหรูหรา ฟุ่มเฟือย โดยเปลี่ยนเป็นประหยัด มีประโยชน์และเรียบง่าย ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้รับการขนานนามว่า “ผู้ปฏิรูปพิธีกรรมของชาวพุทธไทย”
พระพรหมมังคลาจารย์ หรือ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เข้ารักษาอาการอาพาธ ที่ตึกอัษฎางค์ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 และมรณภาพ เมื่อ 9 นาฬิกา วันที่ 10 ตุลาคม 2550 ด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน ซึ่ง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช แถลงว่า หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยอาการหน้ามืด วูบและแน่นหน้าอก เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันมาก่อน แพทย์ได้ขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ทำให้หลวงพ่อมีอาการดีขึ้น
หลังจากนั้นวันที่ 5 ตุลาคม 2550 พบว่าหลวงพ่อมีอาการติดเชื้อ เริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หลังทำการเอ็กซเรย์ปอดพบว่าปอดอักเสบและติดเชื้อ ต้องให้ยาปฏิชีวนะ จากนั้นการทำงานของไตเริ่มแย่ลง ซึ่งหลวงพ่อเคยมีประวัติโรคไตและโรคเบาหวานอยู่แล้ว จนกระทั่งเมื่อค่ำวันที่ 9 ตุลาคม 2550 หลวงพ่อหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง แพทย์ได้ปั๊มหัวใจช่วยจนกลับมาเป็นปกติ กระทั่งเช้า 9 นาฬิกา วันที่ 10 ตุลาคม 2550 หลวงพ่อปัญญาก็ได้มรณภาพด้วยอาการปอดอักเสบและไตวายเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ 97 ปี
ผลงานและเกียรติคุณหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
งานด้านการปกครอง
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2506 ได้รับพระบัญชา แต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
-เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9
-เป็นรองเจ้าคณะภาค 18
-พ.ศ.2515 เป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
งานด้านการศึกษา
-พ.ศ.2503 เป็นเจ้าสำนักศาสนาศึกษา แผนกธรรมและบาลีวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-พ.ศ.2512 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ ระดับอนุบาล ประถม มัธยมศึกษา
-พ.ศ.2524 เป็นผู้อำนวยการจัดการการอบรมพระธรรมทายาทของวัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้อำนวยการจัดการอบรมพระนวกะที่บวชในวัดชลประทานรังสฤษฏ์
งานด้านการเผยแผ่
-พ.ศ.2492-2502 เป็นองค์แสดงปาฐกถาธรรมประจำวันพระและวันอาทิตย์ ณ พุทธนิคม สวนพุทธธรรม วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2500 เป็นประธานมูลนิธิ “ชาวพุทธมูลนิธิ” จังหวัดเชียงใหม่
-เป็นประธานก่อตั้งพุทธนิคม จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์
-เป็นผู้ริเริ่มการทำบุญ ฟังธรรมในวันอาทิตย์ ณ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นผู้ก่อตั้งทุนพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน พ.ศ.2520
-เป็นผู้อบรมผู้ช่วยผู้พิพากษา
-พ.ศ.2525 รับเป็นองค์แสดงธรรมแก่วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
-พ.ศ.2534 เป็นผู้ริเริ่ม “ค่ายคุณธรรมแก่เยาวชน” ในโรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ฯลฯ
-พ.ศ.2536 จำพรรษา ณ วัดพุทธธรรม ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
การปฏิบัติศาสนากิจในต่างประเทศ
-พ.ศ.2497 เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก
-ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนา เผยแผ่ธรรมะในต่างประเทศ คือ ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน
-เป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
งานด้านสาธารณูปการ
-พ.ศ.2516 เป็นประธานในการก่อสร้างกุฏิสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นที่อยู่แก่พระภิกษุผู้บวชใหม่
-พ.ศ.2518 เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธธรรม
-เป็นประธานในการก่อสร้างโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
-พ.ศ.2537 เป็นประธานก่อสร้างกุฏิสองหลังเป็นกุฏิทรงไทยประยุกต์
งานด้านสาธารณประโยชน์
-พ.ศ.2533 เป็นประธานหาทุนสร้าง “ตึก 80 ปี ปัญญานันทะ” ให้โรงพยาบาลชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
-สร้างศูนย์ฝึกและปฏิบัติงาน มูลนิธิแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
-พ.ศ.2534 บริจาคเงินสร้างอุโบสถวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) จ.เชียงใหม่
-พ.ศ.2537 บริจาคเงินสร้างโรงอาหารแก่โรงเรียนประภัสสรรังสิต อ.เมือง จ.พัทลุง
-บริจาคเงินซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลวชิระ จ.ภูเก็ต
-เป็นประธานหาทุนสร้างวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี
-บริจาคเงินเป็นทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียนในโรงเรียนท้องถิ่นที่ขาดแคลนต่างๆ หลายจังหวัด
งานพิเศษ
-พ.ศ.2503 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน
-พ.ศ.2518 เป็นองค์แสดงธรรมถวายสมเด็จพรเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ ณ ศาลาการเปรียญ วัดชลประทานรังสฤษฏ์
-เป็นองค์แสดงธรรมถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ พระบรมวงศานุวงศ์ เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รามาธิบดีอันมีศักดิ์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-เป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทแก่ช่าวต่างประเทศ ที่อุปสมบทในประเทศไทย เช่น ชาวอเมริกัน อังกฤษ ออสเตรเลีย เยอรมัน ญี่ปุ่น และศรีลังกา เป็นต้น
-พ.ศ.2529 ได้รับนิมนต์เข้าร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์อาเชี่ยนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว (12th Asain Buddist Conference for Peace)
-พ.ศ.2536 ได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมและบรรยาย ในการประชุมสภาศาสนาโลก 1993 ณ นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (The 1993 Parliament of the world”s Religion)
งานด้านวิทยานิพนธ์
ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไว้มากมาย เช่น
1.ทางสายกลาง
2.คำถามคำตอบพุทธศาสนา
3.คำสอนในพุทธศาสนา
4.หน้าที่ของคนฉบับสมบูรณ์
5.รักลูกให้ถูกทาง
6.ทางดับทุกข์
7.อยู่กันด้วยความรัก
8.อุดมการณ์ของท่านปัญญา
9.ปัญญาสาส์น
10.ชีวิตและผลงาน
11.มรณานุสติ
12.ทางธรรมสมบูรณ์แบบ
13.72 ปี ปัญญานันทะ เป็นต้น
เกียรติคุณที่ได้รับ
-พ.ศ.2520 ได้รับรางวัล “สังข์เงิน” จากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ในฐานะพระภิกษุผู้เผยแผ่ธรรมะและศีลธรรมยอดเยี่ยมของประเทศไทย
-พ.ศ.2521 ได้รับรางวัล “นักพูดดีเด่น” ประเภทเผยแผ่ธรรม จากสมาคมฝึกพูดแห่งประเทศไทย
-พ.ศ.2525 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระศาสนา เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จากกรมการศาสนา โดยได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณ 2 รางวัล คือ ประเภท ก.บุคคล และประเภท ข.สื่อสารมวลชน (รายการส่งเสริมธรรมะทางสถานีวิทยุโทรทัศน์)
-พ.ศ.2524 ได้รับปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาครุศาสตร์ จาก มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
-พ.ศ.2531 ได้รับปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-พ.ศ.2534 ได้รับปริญญาการศึกษาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรจน์
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-พ.ศ.2536 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ปรัชญาและศาสนา) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-พ.ศ.2537 ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมณศักดิ์ที่ได้รับ
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระปัญญานันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2514 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชนันทมุนี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพวิสุทธิเมธี”
-วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมโกศาจารย์ สุนทรญาณดิลก สาธกธรรมภาณ วิสาลธรรมวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
พระพรหมังคลาจารย์ หรือที่ชาวพุทธรู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ” ได้อุทิศชีวิตและร่างกายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา แม้ว่าหลวงพ่อจะมีอายุมากแล้ว แต่หลวงพ่อยังคงทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง ในการรณรงค์ให้ชาวพุทธไทยได้เป็นชาวพุทธที่แท้จริง โดยให้ละทิ้งจากความเชื่องมงาย ตามหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงพ่อเน้นเสมอในแก่นแท้ของพระศาสนา และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาอื่นๆ
ดังนั้น หลวงพ่อจึงกล้าพูดความจริงทุกกาลเทศะ และสนับสนุนคนดีตลอดมา หลวงพ่อจึงเป็นที่ยอมรักจากทุกชุมชน ทั่วทุกมุมโลกที่มีชาวพุทธอยู่อาศัย กราบนมัสการ
ก่อนพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ จะมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2550 เวลา 10.30 น. ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น ท่านมีปณิธานที่จะต้องทำก่อนตายอย่างน้อย 4 โครงการ ท่านก็มรณภาพเสียก่อนที่ปณิธานจะสัมฤทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ รูปใหม่ คือพระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.9 ดร.) ต้องสานต่อ
ปณิธานหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
1.การสร้างอุโบสถกลางน้ำ เพื่อมอบให้กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)
2.ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ โรงพยาบาลชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
3.โครงการสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
4.โครงการพระธรรมทายาท และ
5.โครงการให้ยกวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เป็นพระอารามหลวง (เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2555 โดยพระวิสุทธิภัทรธาดา ว่า หลวงพ่อปัญญานันทะเคยบอกเรื่องนี้กับพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร วันหนึ่งก่อนมรณภาพ)
พระธรรมวิมลโมลี (รุ่น ธีรปญฺโญ ป.ธ.9 ดร.) อายุ 65 ปี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระอารามหลวง เจ้าคณะภาค 17 หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 9 ใช้เวลา 5 ปี สานปณิธานของพระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) สำเร็จด้วยดี รวมทั้งโครงการยกฐานะวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เป็นพระอารามหลวง ด้วย
วัดชลประทานรังสฤษฏ์ เกิดจากการยุบวัดเชิงท่าและวัดหน้าโบสถ์ เมื่อกรมชลประทานต้องการที่ดินของวัดทั้งสองเพื่อขยายงาน โดยกรมชลประทานรวมทั้งสองวัดเข้าด้วยกันมาสร้างใหม่ แล้วเสร็จปี 2502 ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2503 มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ โดยมีพระปัญญานันทภิกขุ เป็นเจ้าอาวาส และเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2555 โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง พร้อมกับวัดราษฎร์อื่นๆ อีก 20 วัด เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธ.ค. พ.ศ. 2554
ปณิธานเดินเงินไหลมา
พระธรรมวิมลโมลี ผู้นำในการสืบสานปณิธานของหลวงพ่อ กล่าวว่า นับแต่วันที่หลวงพ่อละสังขารไป 5 ปี ปณิธานของหลวงพ่อได้รับการสานต่อ และดำเนินไปด้วยดี เพราะประชาชนยังศรัทธาในหลวงพ่อปัญญาเหนียวแน่น เมื่อเริ่มโครงการตามปณิธานอันใด ก็สนับสนุน ท่านยกตัวอย่างโครงการสร้างอุโบสถกลางน้ำให้ มจร ว่า ได้รับการสนับสนุนอย่างเหลือเชื่อ พระสงฆ์ในวัดถึงกับตะลึง เมื่อมีโยมผู้ศรัทธานำปัจจัยจำนวน 3 ล้านบาทใส่ตู้บริจาค พระเจ้าหน้าที่ขอทราบนามเพื่อออกใบอนุโมทนา ได้รับคำตอบว่า เขามาทำบุญ ไม่ได้มาบอกชื่อ (เป็นงั้นไป)
เมื่อจะสร้างบันไดนาคที่อุโบสถกลางน้ำ ก็มีโยมมาแจ้งขอบริจาค 5 แสนบาท เพื่อเป็นเจ้าภาพ 1 ตัว แต่ต่อมาโยมคนเดิมคิดได้ว่า พญานาคต้องมีคู่จึงจะอบอุ่น จึงขอบริจาคเงิน 1 ล้านบาท เพื่อเป็นเจ้าภาพสร้างพญานาค 2 ตัว
วันที่โยมท่านนี้นำเงินมาถวายนั้น โยมถือเงินสด 1 ล้านบาทมาถวาย จึงถามว่าทำไมไม่ซื้อเช็ค โยมตอบว่าเช็คเป็นกระดาษ แต่โยมต้องการถวายเงินสด
ส่วนภาพเขียนผนังอุโบสถ 2 ด้าน ราคาด้านละ 1.5 ล้านบาท มีโยมจองเป็นเจ้าภาพทั้งหมด รวมทั้งภาพด้านหน้าพระประธาน (ภาพผจญมาร) และภาพหลังพระประธาน (ภาพแสดงโอวาทปาฏิโมกข์) ราคาด้านละ 1 ล้านบาท โยมถวายแล้ว
ชั้นล่างอุโบสถมีห้องน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้มาประชุม แต่เมื่อมีคนใช้มาก ในช่วงที่มีการประชุมใหญ่ กลิ่นไม่สะอาดจะรบกวนมาก จึงได้เปลี่ยนจากห้องน้ำเป็นห้องรับรองแทน แล้วไปสร้างห้องน้ำใหม่ด้านบนหรูหรามี 42 ห้อง ใครเห็นคิดว่าสร้างรีสอร์ต เมื่อประกาศทางวิทยุว่ามีโครงการเช่นนี้ ญาติโยมผู้ศรัทธาท่านหนึ่งโทรมาถามว่ามีเจ้าภาพหรือยัง เมื่อทราบว่ายังไม่มีเจ้าภาพ และราคาโครงการประมาณ 45 ล้านบาท ก็แสดงความจำนงทันทีว่าโยมขอเป็นเจ้าภาพเอง
จึงเป็นข้อสรุปว่างานก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำสำเร็จเสร็จสิ้นโดยราบรื่น ใช้เงินไปแล้ว 192,992,298.20 ล้านบาท เพราะบารมีหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุยังอยู่ และจากการสานปณิธานของเจ้าอาวาส พระธรรมวิมลโมลี ดีกรีประโยค 9 องค์นี้ แม้ว่าจะมีงานที่เหลือคือยกช่อฟ้า และมอบให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ต้นปี 2556 ก็ไม่มีปัญหา
ส่วนโครงการปณิธานด้านอื่นๆ ก็เดินหน้าและสำเร็จไปแล้ว เช่นโครงการสร้างโรงพยาบาลศรีนครินทร์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เสร็จแล้ว มอบให้ทางราชการไปแล้ว เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2554 ในการนี้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ไปเป็นประธาน และมอบรถพยาบาลให้กับโรงพยาบาล 1 คัน ด้วย
เช่นเดียวกับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ โรงพยาบาลชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็แล้วเสร็จตามแผนการทุกอย่าง
ส่วนโครงการพระธรรมทายาทนั้น วัดชลประทานรังสฤษฏ์ดำเนินการต่อเนื่องจากหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ โดยจัดบรรพชาอุปสมบทกุลบุตรเป็นประจำทุกเดือน (เว้นช่วงเข้าพรรษา) แต่ละเดือนมีผู้เข้าอุปสมบทไม่น้อยกว่า 100 คน
เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว ทางวัดจะจัดการอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานตลอดจนกว่าจะลาสิกขา
พระเถระที่มากประสบการณ์
ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ ต่อจากหลวงพ่อปัญญานันทะนั้น พระธรรมวิมลโมลีได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ปฏิบัติหน้าที่หลายตำแหน่งในวัดต่างๆ ทั้งในภาคใต้ ภาคเหนือ และ กทม. ซึ่งตำแหน่งที่ลาออกสุดท้ายก่อนมารับหน้าที่ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ตามหนังสือเชิญตัวของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เมื่อ พ.ศ. 2537 คือ ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ที่ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งใน พ.ศ. 2533
ตำแหน่งอื่นๆ ที่เคยมีประสบการณ์ เช่น เมื่อ พ.ศ. 2516 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดกุฏยาราม จ.ตรัง แต่ขอลาออก เมื่อ พ.ศ. 2522 เพื่อมาเรียนบาลีประโยค ป.ธ.89 ต่อ โดยจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2527 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอลับแล จ.อุตรดิตถ์ และลาออกเมื่อ พ.ศ. 2532 เพื่อไปรับตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 17
พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
พ.ศ. 2551 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 17
วันที่ 3 ม.ค. 2551 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ (ยังมีฐานะเป็นวัดราษฎร์)
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2555 ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ พระอารามหลวง
ประวัติย่อ
ท่านมีชื่อเดิมว่า รุ่น นามสกุล รักษ์วงศ์ เกิดวันที่ 24 ม.ค. 2490 ณ บ้านลำภายตีน ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง โยมบิดาชื่อขาว โยมมารดาชื่อฝ้าย
บรรพชาอุปสมบทเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2510 ณ วัดธาราสถิตย์ ต.โคกชะงาย อ.เมือง จ.พัทลุง
ส่วนวิทยฐานะนั้นสอบได้ ป.ธ.9 เมื่อ พ.ศ. 2523 ในนามสำนักเรียนวัดราชสิทธาราม กรุงเทพมหานคร
สำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กทม. เมื่อ พ.ศ. 2549
สมณศักดิ์
ท่านเจริญเติบโตทางสมณศักดิ์สมกับฐานะมาโดยลำดับ หลังจากสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2523
กล่าวคือ
พ.ศ. 2527 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระเมธีวราภรณ์”
พ.ศ. 2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ “พระราชวิสุทธิโมลี”
พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ “พระเทพปริยัติเมธี”
พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระธรรมวิมลโมลี”